วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มาตรฐานการบัญชี (Accounting standard) คืออะไร?

มาตรฐานการบัญชี (Accounting standard) คืออะไร?

การทำธุรกิจหรือประกอบกิจการใดๆ ระบบบัญชีหรือการจัดทำบัญชีถือเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงาน ความหมายของคำว่า ระบบบัญชีก็คือ แบบแผนของการปฏิบัติงานทางการบัญชี เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน การจดบันทึกบัญชี การจำแนกประเภทบัญชี การกำหนดแบบพิมพ์เอกสารและสมุดบัญชี ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำระบบบัญชีเหล่านี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงต้องมีมาตรฐานการบัญชีเกิดขึ้น
มาตรฐานการบัญชี คืออะไร
มาตรฐานการบัญชี หรือ Accounting standard คือกฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติทางการบัญชีที่ได้ทำการศึกษาและพัฒนาภายใต้สภาวะ แวดล้อมทางเศรษฐกิจ ตามหลักกฎหมายของแต่ละประเทศอย่างเหมาะสมและมีเหตุผล จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แล้วนำมาเป็นหลักในการปฏิบัติงานทางบัญชีให้เป็นไปในแนวทางทางเดียวกัน
หลักปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี
ระบบการจัดทำบัญชีที่ถือเป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วไป ยืดถือตามมาตรฐานการบัญชีเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน องค์กรธุรกิจ ร้านค้า หรือแม้แต่บัญชีครัวเรือน หลักในการปฏิบัติได้แก่

  1. การรวบรวม ได้แก่ การรวบรวมหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องทางการเงิน เช่น เอกสารการรับจ่าย ใบเสร็จรับเงิน ไปส่งสินค้า หรือบัญชีเกี่ยวกับการเงิน
  2. การจดบันทึก ได้แก่การนำหลักฐานทางการเงินมาจดบันทึกในสมุด หรือบันทึกลงในเอกสารอื่นๆ เช่น การลงทะเบียนซื้อสินค้า หรือลงทะเบียนขายสินค้า โดยตรวจสอบรายการจากใบส่งของหรือใบเสร็จรับเงิน
  3. การจำแนก ได้แก่การจำแนกประเภทหรือแยกบัญชีให้เป็นหมวดหมู่ เช่น บัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีหรือทะเบียนสินค้า บัญชีเงินสด
  4. สรุปผล หมายถึงเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะมีการสรุปรวมข้อมูล ปรับปรุงรายการเพื่อจัดทำงบการเงิน เช่น สรุปยอดทุกสิ้นเดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี
  5. การจัดทำงบการเงิน ได้แก่การนำรายละเอียดจากการสรุปผลมาจัดทำงบการเงิน เพื่อให้รู้สถานะขององค์กร เช่น มีรายรับรายจ่าย มีค่าใช้จ่าย หรือมีกำไรขาดทุนอย่างไรใน 1 รอบบัญชี
การจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี มีหลักปฏิบัติที่สำคัญคือต้องมีความสม่ำเสมอต้องลงบัญชีให้เป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบยอดหรือตรวจสอบรายการได้ เพื่อให้ผู้ที่ใช้งบการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น